Secretary General of the Chaipattana Foundation













วันที่ 13 พฤษภาคม 2552

ฯพณฯ จูมมาลี ไชยะสอน ประธานประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และภริยา พร้อมคณะเดินทางมายังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าร่วมงานพิธีมอบปริญญารัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่ ฯพณฯ จูมมาลี ไชยะสอน ประธานประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้มอบปริญญารัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากนั้น นายกสภามหาวิทยาลัย เชิญแขกผู้มีเกียรติบนเวทีดื่มอวยพรแสดงความยินดีแด่ ฯพณฯ จูมมาลี ไชยะสอน พร้อมทั้ง ถ่ายรูปร่วมกับ อธิการบดีและคณะอาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ ห้องประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพมหานคร

Print Email






วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พุทธศักราช 2552
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายอำพล เสนาณรงค์ นายพลากร สุวรรณรัฐ นายสวัสดิ์ วัฒนายากร องคมนตรี และนายสุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลเกี่ยวกับเรื่องโครงการแก้มลิงและรับพระราชทานพระราชดำริ
ตามที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริให้มีระบบการบริหารจัดการน้ำท่วมด้วยวิธีการที่เรียกว่า "แก้มลิง" ซึ่งเป็นวิธีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติดั้งเดิมของกรุงเทพมหานครที่เป็นพื้นที่ลุ่มรับน้ำตามธรรมชาติ โดยมีพระราชดำริให้จัดหาพื้นที่ลุ่มบึงสระ เป็นที่รองรับน้ำเมื่อฝนตกหนักให้นำน้ำเข้ามาเก็บกักพักไว้ในแก้มลิงเป็นการชั่วคราว เมื่อน้ำในคลองมีสภาพปรกติ จึงระบายน้ำออกจากแก้มลิงโดยการไหลตามแรงโน้มถ่วงของโลก (Gravity Flow) เป็นการช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ และยังสามารถใช้อุปโภค - บริโภคในหน้าแล้ง
จากผลการศึกษาระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานครภายในคันกั้นน้ำพระราชดำริครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 650 ตารางกิโลเมตร พบว่า หากเกิดฝนตกติดต่อกันภายในเวลา 3 ชั่วโมง จะมีปริมาณน้ำส่วนที่เกินจากระบบระบายน้ำสาธารณะคือ คลองระบายน้ำและสถานีสูบน้ำที่มีอยู่จะรองรับได้ โดยจะมีน้ำส่วนเกินประมาณ 13 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่จะไหลล้นท่อระบายน้ำและคลอง เข้าท่วมพื้นที่ลุ่มน้ำ ตามถนน ตรอก ซอย ซึ่งกรุงเทพมหานครจะต้องจัดหาแก้มลิงเพื่อรองรับปริมาณน้ำส่วนเกินดังกล่าว ให้เพียงพอเพื่อแก้ไขไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง การจัดหาพื้นที่แก้มลิงของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้การดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยใช้แก้มลิงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการหาพื้นที่เพื่อจัดทำแก้มลิงได้ จำนวน 21 แห่ง รองรับน้ำได้ประมาณ 12.74 ล้านลูกบาศก์เมตร โครงการที่สำคัญได้แก่ โครงการแก้มลิง คลองมหาชัย-คลองสนามชัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการแก้มลิงนี้ เมื่อปี 2538 กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำปิดกั้นคลองต่างๆ จำนวน 10 แห่ง แล้วเสร็จในปี 2539 ขณะนี้ กรมชลประทานและกรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินการก่อสร้างทำนบดินกั้นน้ำทะเล ความยาว 13 กิโลเมตรและก่อสร้างประตูน้ำ 10 แห่งแล้วเสร็จ ทำนบดินสามารถป้องกันน้ำท่วมเขตเทศบาลเมืองสมุทรสาครได้อย่างดีและสามารถบริหารจัดการน้ำได้ในระดับหนึ่ง ปัจจุบันสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ได้ดำเนินการติดตั้งระบบโทรมาตรเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดประโยชน์สูงสุดรวมทั้งการจัดหาพื้นที่แก้มลิงในพื้นที่เอกชนเพิ่มเติม
โครงการแก้มลิงบึงหนองบอน เป็นแก้มลิงแห่งหนึ่งในจำนวนทั้งหมด 21 แห่ง ที่กรุงเทพมหานคร จัดหาไว้เป็นพื้นที่รองรับและเก็บกักน้ำชั่วคราวเพื่อป้องกันน้ำท่วม ตั้งอยู่ที่เขตประเวศ มีพื้นที่ทั้งหมด 644 ไร่ 1 งาน 37.5 ตารางวา เริ่มขุดบึงเมื่อปี 2536 โดยใช้พื้นที่ประมาณ 500 ไร่ และขุดลึกประมาณ 10 เมตร แล้วเสร็จเมื่อปี 2542
การดำเนินการในช่วงปลายหน้าแล้งจะสูบพร่องน้ำโดยเครื่องสูบน้ำให้น้ำในบึงมีระดับต่ำ (ระดับต่ำสุด -7 เมตร) เพื่อรองรับน้ำจากคลองหนองบอนและคลองมะขามเทศในช่วงน้ำหลาก ทำให้สามารถป้องกันและบรรเทาน้ำท่วมขังในพื้นที่เขตประเวศ เขตสวนหลวง และเขตพระโขนงบางส่วนพื้นที่ประมาณ 150 ตารางกิโลเมตร รวมทั้งลดระดับน้ำในคลองข้างเคียงได้

Print Email





















วันที่ 7 พฤษภาคม 2552

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ประธานมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ดร.ศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ร่วมจัดงานแถลงข่าว “การประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ประจำปี 2552 (Rice lnnovation Awards)” โดยมุ่งเน้นคัดเลือกนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ข้าวไทย รวมทั้งกระบวนการผลิตที่มีศักยภาพในการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อยกระดับนวัตกรรมอุตสาหกรรมข้าว ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมข้าวของไทย ณ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร

Print Email
















วันที่ 1 พฤษภาคม 2552

ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ฯพณฯ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ฯพณฯ นายสวัสดิ์ วัฒนายากร องคมนตรี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และ คณะผู้บริหาร สำนักงาน กปร. รับฟังการบรรยายสรุป เกี่ยวกับปริมาณการรับน้ำเข้าบึงหนองบอน การผันน้ำออกเพื่อช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครชั้นกลาง และตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของโรงสูบน้ำ ประตูรับน้ำเข้าบึง และจุดติดตั้งกังหันน้ำชัยพัฒนา และ เครื่องเติมอากาศ RX 5C เพื่อช่วยในการบำบัดน้ำเสียให้มีคุณภาพดีขึ้น ณ พื้นที่รับน้ำบึงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร

Print Email








วันที่ 30 เมษายน 2552

คณะผู้บริหารและข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ร่วมกราบขอพร ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา นายมนูญ มุกข์ประดิษฐ์ รองเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา นายพิมลศักดิ์ สุวรรณทัต เหรัญญิกมูลนิชัยพัฒนาเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ไทยและประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2552 โดยผู้บริหารมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ให้พรเพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตให้เกิดความสุข ณ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา พระราชวังดุสิต สนามเสือป่า เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

Print Email








วันที่ 3 เมษายน 2552

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “การบริหารงานตามแนวพระราชดำริ” สำนักงานศาลตุติธรรมได้อนุมัติให้สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม จัดการอบรมหลักสูตร “ผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) ” รุ่นที่ 13 ขึ้น ณ ห้องประชุม บ.ย.ส. ชั้น 8 อาคารสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ถนนรัชดาภิเษก เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

Print Email






วันที่ 31 มีนาคม 2552

ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธานในการประชุม "สามัญประจำปี 2551 ของ อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี" เพื่อรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงาน ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคาร 608 สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา พระราชวังดุสิต สนามเสือป่าเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

Print Email
















วันที่ 30 มีนาคม 2552

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และประธานมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ ตรวจเยี่ยมและเป็นประธานเปิดรั้วไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อม นายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นายวิสูตร สมนึก รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมเปิดอาคารควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า เปิดสวิตซ์จ่ายกระแสไฟฟ้าและตรวจเยี่ยมรั้วไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ กฟผ. สร้างขึ้นตามโครงการ “กฟผ. คืนช้างสู่ป่า” สนับสนุนมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ โดยมี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมเป็นเกียรติในพิธี ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา อำเภอสนธิ จังหวัดลพบุรี

Print Email











วันที่ 26-28 มีนาคม 2552

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา พร้อม ศ.เกษม จันทร์แก้ว ผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย นายลลิต ถนอมสิงห์ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา นายสุขเกษม เจริญจันทร์ ผู้เชียวชาญด้านวิศวกรรมเครื่องกล(วิจัยและพัฒนา) นายพนมกร ไทยสันติสุข วิศวกรเครื่องกลระดับชำนาญพิเศษ และคณะทำงาน เดินทางไปร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับการดำเนินงานสำรวจพื้นที่ ร่วมกับผู้นำหน่วยงานราชการเมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม จากนั้น ได้ลงสำรวจพื้นที่ตามที่ผู้นำหน่วยงานราชการเมืองฮานอย ได้เสนอว่ามีน้ำเน่าเสียในทะเลสาบจำนวน 4 แห่ง คือ ทะเลสาบบาเหมา ทะเลสาบแท็งหน่าน ทะเลสาบช่างหวอ และทะเลสาบด๋งดา การสำรวจทะเลสาบทั้ง 4 แห่ง ได้เห็นว่าน้ำในทะเลสาบเน่าเสียจริงและสมควรปรับปรุงคุณภาพน้ำ ดังนั้นจึงประชุมหาข้อสรุปผลการสำรวจพื้นที่ และกำหนดวิธีการปรับปรุงคุณภาพน้ำของแต่ละทะเลสาบ โดยใช้กังหันน้ำชัยพัฒนา หรือจะใช้แปลงพืช นั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพน้ำเน่าเสียว่ามากน้อยเพียงใด

Print Email









วันที่ 24 มีนาคม 2552

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ เรื่อง “แนวทางการทำงานภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ต้องเข้าใจ” โครงการรักษ์ป่า สร้างคน 84 ตำบล วิถีชีวิตพอเพียงจัดการประชุมไตรมาส ครั้งที่ 1/2552 โดยมีเจ้าหน้าที่โครงการฯ ทั่วประเทศเข้าร่วมประชุม เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความเข้าใจ สร้างแรงบันดาลใจและแนวทางที่ถูกต้องในการปฏิบัติตามแนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และทบทวนแนวทางการดำเนินงาน ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างทีมงาน ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถนนวิภาวดีรังสิต เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

Print Email